ชีวิตคืออะไร..?

ชีวิตคืออะไร..?
การเกิดของสิ่งมีชีวิตแรกที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันอยู่ทุกวันนี้เป็นเพียงสมมติฐานที่มีหลักฐานสนับสนุนที่น่าเชื่อถือที่สุดในปัจจุบันเท่านั้น

วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ทฤษฎีลามาร์ค ทฤษฎีดาร์วิน และทฤษฎีวิเคราะห์ของวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิต

วิวัฒนาการทางชีวิวิทยาของสิ่งมีชีวิต (Biological evolution; organic evolution) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของประชากรสิ่งมีชีวิตไปตามกาลเวลา จนทำให้สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นมีลักษณะปละพฤติกรรมแตกต่างไปจากเดิม หากเกิดการเปลี่ยนแปลงมากจะทำให้มีสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่เกิดขึ้นได้ สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่เกิดขึ้นก็จะมีวิวัฒนาการต่อไปอีก จากการที่สิ่งมีชีวิตได้ถืออำเนิดขึ้นมาบนโลกตั้งแต่เมื่อประมาณ 4,000 ล้านปีมาแล้ว สิ่งมีชีวิตจึงมีวิวัฒนาการมาเป็นเวลานานจนทำให้ปัจจุบันมีสิ่งมีชีวิตมากมายหลายชนิดอาศัยอยู่บนโลกนี้

ในอดีตผู้คนจำนวนมากไม่เชื่อในเรื่องวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต จนกระทั่งนักวิทยาศาสตร์ได้หาหลักฐานมายืนยันเพื่อพิสูจน์ว่าวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตนั้นเกิดขึ้นจริง และยังพยายามอธิบายว่าวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์จึงถือว่าวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตนั้นเป็นข้อเท็จจริง และยอมรับว่าวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

1.แนวคิดเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต
ในอดีตมักมีผู้เชื่อว่าอำนาจเหนือธรรมชาติบันดาลให้เกิดสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์ และพืชชนิดต่าง ๆ ในสมัยโบราณนักปราชญ์ชาวกรีกหลายคน เช่น อแนกสิมานเดอร์ (Anaximander) เมื่อ 600-400 ปีก่อนคริสต์ศักราช กล่าวว่า แรกเริ่มนั้นมนุษย์มีชีวิตอยู่ในน้ำเยี่ยงปลา ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงผิวหนังจากที่เป็นเกล็ดมาเป็นผิวหนังเพื่อการดำรงชีพบนบก และเมื่อ 510-428 ปีก่อนคริสต์ศักราช อแนกซากอรัส (Anaxagoras) ได้เสนอว่าชีวิตน่าจะเกิดจากเมฆและฝน ต่อมาเมื่อ 384-322 ปีก่อนคริสต์ศักราช..อริสโตเติล (Aristotle) ได้เสนอว่า สิ่งมีชีวิตอุบัติขึ้นจากดินและเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ นั้นเกิดขึ้นมาโดยมีจุดมุ่งหมายที่แน่นอน ทั้งยังยอมรับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตจากลักษณะที่ง่ายมาเป็นลักษณะที่ซับซ้อนและสมบูรณ์มากกว่า

2.ทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต
แม้ว่าในช่วงแรกมีผู้พยายามอธิบายว่าสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นมาได้อย่างไรอยู่หลายคน แต่ส่วนใหญ่ก็เน้นไปที่กำเนิดของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด ไม่ได้สนใจว่าสิ่งมีชีวิตเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงไปได้หรือไม่ จนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา แนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงรูปร่างลักษณะของสิ่งมีชีวิตจึงได้รับการยอมรับกันมากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีใครสามารถอธิบายให้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปได้ว่าสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ เกิดขึ้นมาได้อย่างไรและมีการเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไร

2.1ทฤษฎีของลามาร์ค (Lamarckism) สิ่งหนึ่งที่ทำให้พัฒนาการของความรู้และแนวคิดเกี่ยวกับวิวัฒนาการในอดีตมีอุปสรรค คือ อิทธิพลของความเชื่อทางศาสนา ซึ่งมักจะเชื่อว่าเทพเจ้าหรือพระเจ้าเป็นผู้ดลบันดาลให้เกิดสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ ลามาร์ค (Jean Baptiste de Lamarck) เป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่กล้ายืนยันและกล่าวถึงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แม้ว่าก่อนหน้านั้นมีผู้เสนอแนวคิดหรือกล่าวถึงวิวัฒนาการกันบ้างแล้ว แต่ไม่มีใครกล่าวถึงอย่างจริงจังเท่ากับลามาร์ค อย่างไรก็ตามลามาร์คไม่ได้รับการยกย่องให้เป็นพิดาของการศึกษาวิวัฒนาการ เนื่องจากทฤษฎีวิวัฒนาการของลามาร์คมีเนื้อหาส่วนใหญ่ที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบันแล้ว

ลามาร์คไม่ได้อธิบายว่าสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ บนโลกนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร แต่ลามาร์คเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ที่อาจเกิดจากการสร้างของพระเจ้าก็ได้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่ได้สูญพันธุ์ไปไหน เพียงแต่มีการเปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ ลามาร์คยังเชื่อด้วยว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นพยายามปรับตัวให้ดีขึ้นจนสมบูรณ์ที่สุด ไม่ว่าการปรับตัวนั้นจะเกิดจากพลังเหนือธรรมชาติหรือพลังพิเศษที่มีอยู่ในตัวของสิ่งมีชีวิตเอง ลามาร์คเชื่อในหลักการ 2 ประการที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิต ซึ่งผู้คนจำนวนมากในสมัยของลามาร์คก็คุ้นเคยกันดี ได้แก่

(1)หลักการของการใช้และไม่ใช้ (The principle of use and disuse) การใช้อวัยวะอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างสม่ำเสมอจะทำให้อวัยวะนั้นค่อย ๆ แข็งแรงขึ้น ใหญ่ขึ้น หรือพัฒนาดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงนั้นจะเกิดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการใช้อวัยวะนั้นมากน้อยแค่ไหน ขณะเดียวกันอวัยวะที่ไม่ค่อยได้ใช้ก็จะค่อย ๆ อ่อนแอลงมีขนาดเล็กลง และหายไปในที่สุด
(2)หลักการถ่ายทอดลักษณะที่เกิดขึ้น (The inheritance of acquired characters) การมีอวัยวะที่พัฒนาดีขึ้นหรือเลวลงในตอนที่มีชีวิตอยู่นั้นสามารถถ่ายทอดต่อไปยังลูกหลานได้โดยการสืบพันธุ์ หลักการข้อนี้ของลามาร์คไม่มีข้อเท็จจริงที่จะพิสูจน์ได้ แม้จะมีพ่อเป็นนักกีฬาที่มีกล้ามเนื้อใหญ่แข็งแรง แต่ถ้าลูกชายไม่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเหมือนพ่อก็จะไม่มีกล้ามเนื้อที่ใหญ่และแข็งแรงเหมือนพ่อ เช่นเดียวกับผู้หญิงที่ฉีดซิลิโคน (Silicone) เสริมให้หน้าอกใหญ่ขึ้นก็ไม่สามารถถ่ายทอดลักษณะหน้าอกที่ใหญ่ด้วยวิธีนี้ไปยังลูกสาวของตนเองได้
ลามาร์คยกตัวอย่างว่าซากยีราฟในอดีตนั้นคอสั้นกว่ายีราฟในปัจจุบัน แสดงว่ายีราฟในอดีตมีคอสั้น แต่ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมให้ใบไม้ใบหญ้าตามพื้นดินหรือที่อยู่ต่ำใกล้พื้นดินลดน้อยลงยีราฟต้องแก่งแย่งแข่งขันในการกินกันมากขึ้น จึงพยายามเขย่งและยึดคอเพื่อกินใบไม้ที่อยู่สูง การทำเช่นนี้เป็นประจำทำให้ขาหน้าและคอของแต่ละตัวยาวขึ้นบ้างเล็กน้อย และได้ถ่ายทอดลักษณะขาหน้าและคอที่ยาวขึ้นนี้ไปให้ลูกด้วย ดังนั้นลูกหลานยีราฟจึงมีขาหน้าและคอยาวขึ้นเรื่อย ๆทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งมีขาหน้ายาวกว่าขาหลังและมีคอที่ยาวมาก กลไกการเกิดวิวัฒนาการตามทัศนะของลามาร์คเช่นนี้ไม่เป็นที่ยอมรับกันแล้วในปัจจุบัน

2.2ทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (The theory of natural selection) ผู้ที่เสนอกลไกการเกิดวิวัฒนาการซึ่งเป็นที่ยอมรับและใช้เป็นรากฐานของทฤษฎีวิวัฒนาการที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน คือ ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ แต่เดิมดาร์วินไม่เคยเชื่อในวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต แต่หลังจากเดินทางไปกับเรือบีเกิล (H.M.S.Beagle) เพื่อสำรวจดินแดนหลายแห่งทั่วโลกเป็นเวลาถึง 5 ปี ดาร์วินจึงเชื่อว่าวิวัฒนาการเกิดขึ้นจริง และการเดินทางไปกับเรือบีเกิลยังทำให้ดาร์วินได้แนวคิดสำคัญที่ช่วยให้สามารถอธิบายการเกิดวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตได้ในเวลาต่อมา แนวคิดที่สำคัญนั้นเกี่ยวข้องกับอายุที่แท้จริงของโลก ซากดึกดำบรรพ์และความคล้ายคลึงหรือแตกต่างของสิ่งมีชีวิตในบริเวณต่าง ๆ ดาร์วินใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตที่เหลืออยู่ในการรวบรวมข้อมูลเพื่อยืนยันและเป็นหลักฐานสนับสนุนว่าวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นจริง ทั้งยังได้ศึกษาเกี่ยวกับการผสมพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์พืชและสัตว์โดยมนุษย์ด้วย

ดาร์วินไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดของลามาร์ค และได้พัฒนาทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural selection) เพื่อใช้อธิบายกลไกการเกิดวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ดาร์วินอาศัยการวินิจฉัยหลักฐานและข้อเท็จจริงที่ได้จากการสังเกตบางประการเพื่ออธิบายว่าการคัดเลือกโดยธรรมชาติเกิดขึ้นได้เนื่องจาก

1)ประชากรสิ่งมีชีวิตมักมีลูกหลานได้เป็นจำนวนมาก แต่ลูกหลานเหล่านี้ไม่สามารถมีชีวิตอยู่รอดจนได้สืบพันธุ์มีลูกหลานต่อไปเหมือนกันทุกตัว

2)ที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องจากลูกหลานจำนวนมากนี้ต้องแก่งแย่งแข่งขันกันเพื่อปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตที่มีอยู่อย่างจำกัด เช่นอาหาร ทำให้ลูกหลานบางตัวมีโอกาสอยู่รอดจนได้สืบพันธุ์ให้ลูกหลานต่อไปได้มากกว่าตัวอื่น ในขณะที่บางตัวก็ไม่มีลูกหลานต่อไปอีก

3)การที่ประชากรสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันมีลักษณะแปรผัน (Variation) ที่ถ่ายทอดไปยังลูกหลานได้ ทำให้บางตัวมีลักษณะที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมดีกว่าบางตัว

4)ลักษณะที่แปรผันนี้ทำให้ประชากรที่มีลักษณะเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมดีกว่ามีโอกาสอยู่รอดและสืบพันธุ์ให้ลูกหลานได้มากกว่า ลักษณะที่เหมาะสมเหล่านั้นจึงไม่ปรากฎในประชากรทั้งหมดในสัดส่วนที่มากกว่าลักษณะที่ไม่เหมาะสมด้วย

5)เมื่อการคัดเลือกเช่นนี้เกิดเป็นเวลานาน ๆ ประชากรสิ่งมีชีวิตนั้นจึงมีลักษณะที่ดูเหมือนได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ลักษณะที่ไม่เหมาะสมก็จะค่อย ๆ พบในประชากรได้น้อยลงจนอาจหายไปจากประชากรทั้งหมดเลยก็ได้

ยกตัวอย่างในกรณีที่ยีราฟปัจจุบันมีคอยาวนั้น หลักการของการคัดเลือกโดยธรรมชาติสามารถอธิบายได้ว่า ในอดีตยีราฟคงจะมีทั้งคอสั้นและคอยาวหลายขนาด แต่พวกที่มีคอยาวกว่าจะแย่งกินใบไม้ที่อยู่สูงได้เก่งกว่า จึงอยู่รอดดีกว่าและมีลูกหลานมากกว่า ประชากรรุ่นต่อ ๆ มาของยีราฟจึงมีพวกคอยาวเป็นส่วนใหญ่และลูกหลานก็เกิดมาโดยที่มีความยาวของคอแปรผันอยู่ตลอดเวลา บางตัวอาจมีคอยาวกว่าพ่อแม่บ้างก็มีโอกาสอยู่รอดดีกว่าและมีลูกหลานมากกว่าต่อไปอีก เมื่อเกิดกระบวนการเช่นนี้เป็นเวลานานมากยีราฟจึงมีคอยาวเหมือนที่เห็นในปัจจุบัน แต่คอยีราฟคงไม่ยาวเท่าตึกสูงๆ ได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้เพราะคอยิ่งยาวก็ยิ่งมีผลต่อสรีรวิทยาของยีราฟจนอาจเกิดข้อเสียในเรื่องอื่นที่ทำให้ไม่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ทำให้อยู่รอดไม่ดีหรือมีลูกหลานน้อยกว่าตัวอื่น ๆ ก็เป็นได้

แนวคิดเกี่ยวกับการคัดเลือกโดยธรรมชาติของดาร์วินบังเอิญไปตรงกับแนวคิดของอัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ (Alfred Russel Wallace) ซึ่งเป็นนักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษเช่นเดียวกัน แต่ขณะนั้นกำลังทำงานอยู่แถบหมู่เกาะมาเลย์ ในที่สุดมีการนำผลงานของทั้งสองคนร่วมกันเสนอต่อสมาคมลินเนียน (The linnean Society) เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกใน พ.ส.2401 ทฤษฎีวิวัฒนาการจากการคัดเลือกโดยธรรมชาติของดาร์วินและวอลเลซที่ได้รับการตีพิมพ์นี้ไม่ได้รับความสนใจมากนัก สิ่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในวงการวิทยาศาสตร์กลับเป็นหนังสือที่ดาร์วินตีพิมพ์หลังจากนั้นหนึ่งปีชื่อว่า 'On the Origin of Species by Means of Natural Selection, หรือ The Preservation of Favoured Races in The Struggle For Life' ซึ่งมักเรียกกันสั้น ๆ ว่า "The Origin of Species" หรือ 'The Origin'

2.3ทฤษฎีสังเคราะห์ของวิวัฒนาการ (The synthetic theory of evolution) หลังจากดาร์วินและวอลเลซร่วมกันเสนอทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติเพื่ออธิบายกลไกการเกิดวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตแล้ว ปรากฎว่าในเวลานั้นมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและผู้ที่คัดค้านเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เนื่องจากทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติในตอนนั้นยังขาดความสมบูรณ์ในหลายเรื่อง เช่น ดาร์วินไม่สามารถอธิบายได้ว่าความแปรผันของลักษณะของสิ่งมีชีวิตนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์ยุคหลังดาร์วินหลายคนได้ทำการศึกษาและทดลองเกี่ยวกับเรื่องนี้ และพบว่าแนวคิดของดาร์วินนั้นน่าเชื่อถือกว่าแนวคิดของคนอื่น ประจวบกับในยุคหลังได้มีการพัฒนาศาสตร์ต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น เช่น มีการศึกษาทางด้านพันธุศาสตร์ ด้านประชากร หรือด้านอนุกรมวิธานและการแพร่กระจายของพืชและสัตว์ องค์ความรู้ที่ได้รับเพิ่มขึ้นในเวลาต่อมานี้ต่างช่วยสนับสนุนให้ทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติของดาร์วินและวอลเลซมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงต่างก็แต่งตำราเกี่ยวกับวิวัฒนาการจากการคัดเลือกโดยธรรมชาติ โดยพูดถึงทฤษฎีนี้ในแนวทางที่ตนเองถนัด รวมทั้งได้ร่วมประชุมถกเถียงและแลกเปลี่ยนความรู้กันหลายครั้ง ในที่สุดก็เป็นที่เข้าใจและยอมรับในหมู่นักวิทยาศาสตร์ทั่วไปว่าการเกิดวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตนั้นสามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติซึ่งได้รับการปรับปรุงให้ดีและสมบูรณ์ขึ้น ทฤษฎีวิวัฒนาการจากการคัดเลือกโดยธรรมชาติที่สมบูรณ์ขึ้นนี้เรียกว่า ทฤษฎีสังเคราะห์ของวิวัฒนาการ..แต่มักจะเรียกกันสั้น ๆ ว่า "ทฤษฎีสังเคราะห์"

ทฤษฎี วิฒนาการ มนุษย์ พืช และสัตว์

แนวคิดเกี่ยวกับการเกิดวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต
สิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดบนโลกเกิดจากวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่มาก่อนหน้าแล้ว ทฤษฎีที่อธิบายการเกิดวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตมีหลายทฤษฎี ได้แก่ ทฤษฎีของลามาร์ค ทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติ และทฤษฎีสังเคราะห์ของวิวัฒนาการ

การจำแนกหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิต
การที่มีชีวิตหลายประเภททำให้ต้องมีการจัดหมวดหมู่ให้เป็นระบบตามหลักอนุกรมวิธาน ซึ่งเป็นการจำแนกสิ่งมีชีวิตออกเป็นหมวดหมู่และกำหนดชื่อที่เป็นสากลของหมวดหมู่สิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ปัจจุบันนิยมแบ่งสิ่งมีชีวิตออกเป็น 5 อาณาจักรสัตว์ หรือแบ่งเป็น 3 โดเมน ได้แก่ โดเมนแบคทีเรีย โดเมนอาร์คี และโดเมนยูคารีอา

วิวัฒนาการของพืชและสัตว์
พืชมีวิวัฒนาการจากพวกสาหร่ายสีเขียว โดยพืชที่ไม่มีท่อลำเลียงเกิดขึ้นก่อน จากนั้นจึงมีวิวัฒนาการเป็นพืชที่มีท่อลำเลียงชั้นต่ำและพืชที่มีเมล็ดในที่สุด ส่วนสัตว์มีวิวัฒนาการการเกิดสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขึ้นก่อน จากนั้นจึงมีวิวัฒนาการเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังพวกปลา สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และ สัตว์เลื้อยคลานตามลำดับ ต่อมาสัตว์เลื้อยคลานจึงมีวิวัฒนาการเป็นทั้งสัตว์พวกนก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม

วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ชีวิตแรกบนโลก

โลกที่เราอาศัยอยู่นี้เกิดขึ้นมาจากก๊าซและฝุ่นในเอกภพเมื่อประมาณ 4,500 ล้านปีมาแล้ว หลังจากที่โลกอุบัติขึ้นและเปลือกโลกมีการเย็นตัวลงจนกลายเป็นของแข็งแล้วไม่นาน ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญซึ่งปกติแล้วโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้มีน้อยมาก นั่นคือกำเนิดของสิ่งมีชีวิตแรกขึ้นบนพื้นโลก นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อกันว่าสิ่งมีชีวิตแรกนั้นกำเนิดขึ้นมาภายใต้สภาพแวดล้อมของโลกเมื่อหลายพันล้านปีก่อนจากวิวัฒนาการของสารอนินทรีย์ซึ่งเป็นสิ่งไม่มีชีวิต

1.สภาพแวดล้อมบนโลกก่อนเกิดสิ่งมีชีวิต
ความคิดเกี่ยวกับการกำเนิดของชีวิตจากวิวัฒนาการทางเคมีซึ่งเป็นกระบวนการที่ค่อย ๆ เกิดขึ้นทีละขั้นและใช้เวลานานมากนั้นถูกเสนอขึ้นเป็นครั้งแรกในพ.ศ.2467 โดยนักชีวเคมีชาวรัสเซียชื่อ โอปาริน (Alexander I. Oparin) และอีกห้าปีต่อมานักชีววิทยาชาวอังกฤษชื่อ ฮันเดน (J.B.S. Haldane) ก็ได้เสนอความคิดคล้ายกับโอปาริน ทั้งคู่ต่างเสนอความคิดนี้โดยที่ไม่รู้ความคิดของอีกคนหนึ่งมาก่อน ทฤษฎีนี้จึงมักถูกเรียกว่าเป็นทฤษฎีของโอปารินและฮันเดน (The Oparin-Haldane theory) ซึ่งโอปารินชี้ให้เห็นว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงจากสารเคมีที่ไม่มีชีวิตไปเป็นสารประกอบในสิ่งมีชีวิตนี้กินเวลากว่า 1 พันล้านปี เป็นกระบวนการที่ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้อีกภายใต้สภาพแวดล้อมของโลกปัจจุบัน เพราะหากเกิดมีสิ่งมีชีวิตแรกขึ้นเหมือนที่เคยเกิดมาแล้วในอดีตก็จะถูกย่อยสลายไปอย่างรวดเร็วโดยออกซิเจนที่มีอยู่มากในบรรยากาศ หรือโดยจุลินทรีย์ที่มีอยู่เป็นจำนวนมหาศาลบนพื้นโลกในปัจจุบัน

บรรยากาศของโลกก่อนการเกิดสิ่งมีชีวิตนั้นค่อนข้างแตกต่างจากบรรยากาศของโลกในปัจจุบันมาก บรรยากาศของโลกในขณะนั้นไม่มีออกซิเจนอิสระเลย เต็มไปด้วยไฮโดรเจน มีเธน แอมโมเนีย และ น้ำ ไอน้ำที่มีอยู่มากมายในอากาศก็กลั่นตัวตกลงมาเป็นฝนชะล้างแร่ธาตุต่าง ๆ จากก้อนหินลงสู่ทะเล ต่อมาสารเคมีในบรรยากาศได้รวมตัวและทำปฏิกิริยากับสารเคมีในน้ำทะเลเกิดเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) หลายชนิด น้ำ ไฮโดรคาร์บอน และ แอมโมเนียเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของกรดอะมิโน (Amino acid) ซึ่งเป็นโมเลกุลเดี่ยว (Monomer) ที่ประกอบกันเป็นโปรตีนโมเลกุลใหญ่ ดังนั้นในน้ำทะเลบนพื้นโลกในระยะนั้นจึงเป็นแหล่งสะสมของกรดอะมิโนจำนวนมากซึ่งต่อมาก็รวมตัวกันขึ้นเป็นโปรตีนชนิดต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็เกิดกรดนิวคลีอิก (Nucieic acid) และพอลิแซกคาไรด์ (Polysaccharides)ที่เกิดจากโมเลกุลเดี่ยวของแต่ละชนิดมารวมตัวกันทางเคมีโดยอาศัยพลังงานจากรังสีอุลตราไวโอเลต (Ultraviolet, UV) ไฟฟ้า ความร้อน หรือกัมมันตภาพรังสีอื่น เนื่องจากโลกในอดีตไม่มีออกซิเจนอิสระสารเคมีอินทรีย์เหล่านี้จึงไม่ถูกทำให้สลายตัวเหมือนอย่างที่อาจเกิดขึ้นในปัจจุบัน

ต่อมาก็เกิดสิ่งมีชีวิตที่สามารถสังเคราะห์ด้วยแสงได้ เป็นผลให้ออกซิเจนอิสระในบรรยากาศของโลกเพิ่มมากขึ้น สภาพบรรยากาศของโลกจึงเปลี่ยนแปลงจากสภาพที่มีไฮโดรเจนมากเป็นสภาพที่มีออกซิเจนมาก สารเคมีอินทรีย์จึงทำปฏิกิริยากับก๊าซออกซิเจนและสลายตัวมากขึ้น ขณะเดียวกันก๊าซออกซิเจนก็เปลี่ยนแปลงเป็นก๊าซโอโซน (OZone, O3) และกลายเป็นชั้นโอโซนในบรรยากาศของโลก ช่วยป้องกันรังสีอุลตราไวโอเลตไม่ให้ทะลุทะลวงลงสู่พื้นโลก ดังนั้นจะเห็นได้ว่าสภาพของโลกเปลี่ยนแปลงไปมากจนไม่สามารถเกิดสิ่งมีชีวิตแรกด้วยวิธีเดิมได้อีกเป็นครั้งที่สอง

วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ทฤษฎีเกี่ยวกับการกำเนิดของสิ่งมีชีวิต

ถึงแม้ว่าจะยังไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่นอนว่าชีวิตแรกเกิดขึ้นบนโลกได้อย่างไร และเหตุใดปัจจุบันจึงมีสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ เป็นจำนวนมากมาย แต่มีผู้ที่พยายามจะตอบคำถามเหล่านี้มาเป็นเวลานานแล้ว นักสอนศาสนา นักปราชญ์ และนักวิทยาศาสตร์ ต่างก็พยายามอธิบายกำเนิดของสิ่งมีชีวิตแตกต่างกันไปตามความคิดของแต่ละบุคคลและความเชื่อในแต่ละยุคสมัยและแต่ละวัฒนธรรม

1.ทฤษฎีการเกิดขึ้นได้เอง
นักปราชญ์ชาวกรีกหลายท่านเชื่อกันว่าสิ่งไม่มีชีวิตบางอย่างที่กำลังเน่าเปื่อยจะกลายเป็นสิ่งมีชีวิตได้โดยกระบวนการเกิดขึ้นได้เอง (Spontaneous evolution) เช่น กบเกิดจากน้ำค้างในเดือนพฤษภาคม นกและแมลงเกิดจากกิ่งไม้ หรือ หนอนเกิดจากเนื้อเน่า
อย่างไรก็ตามจากการสังเกตและการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ในอดีตที่ผ่านมา เช่น ฟรานเชสโค เรดี (Francesco Redi) และ หลุยส์ ปาสเตอร์ สามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าสิ่งมีชีวิตไม่สามารถเกิดจากสิ่งที่ไม่มีชีวิต สิ่งที่มีชีวิตต้องเกิดจากสิ่งที่มีชีวิตเท่านั้น ความเชื่อเกี่ยวกับกระบวนการเกิดขึ้นได้เองนี้จึงไม่เป็นที่ยอมรับกันอีกต่อไป
นอกจากนี้เกือบทุกศาสนามักจะมีความเชื่อเกี่ยวกับการกำเนิดของสิ่งมีชีวิตโดยมีผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สร้างขึ้นจากพลังอำนาจที่เหนือธรรมชาติ แต่เนื่องจากในทางวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าพลังอำนาจที่เหนือธรรมชาติมีอยู่จริง นักวิทยาศาสตร์จึงไม่ยอมรับแนวคิดเกี่ยวกับการกำเนิดชีวิตโดยวิธีดังกล่าวเช่นเดียวกัน และที่สำคัญก็คือแนวคิดเหล่านี้ไม่ได้พยายามตอบคำถามสำคัญที่เราต้องการรู้ นั่นก็คือชีวิตแรกเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

2.ทฤษฎีชีวิตจากนอกโลก
ตั้งแต่อดีตมาจนถึงประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 20 นักวิทยาศาสตร์ไม่มีความคิดที่น่าเชื่อถือได้เกี่ยวกับการกำเนิดของสิ่งมีชีวิตแรกบนพื้นโลก ความรู้ทางด้านธรณีวิทยาและดาราศาสตร์ทำให้รู้ว่าโลกในตอนที่อุบัติขึ้นใหม่ ๆ นั้นเป็นมวลสารที่มีลักษณะหลอมเหลวและร้อนมาก จึงเชื่อกันว่าไม่มีสิ่งมีชีวิตสามารถอุบัติขึ้นหรือมีชีวิตอยู่ได้ในขณะนั้น อย่างไรก็ตามใน พ.ศ.2450 อาร์รีเนียส (Arrhenius) นักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดนได้เสนอทฤษฎีซึ่งกล่าวว่าชีวิตบนโลกนั้นมาจารกชีวิตนอกโลก (Extraterrestial theory) โดยเกิดจากจุลินทรีย์เล็ก ๆ ที่ล่องลอยไปมาระหว่างดาวเคราะห์ด้วยพลังงานจากแสงของดวงดาว
แม้จะมีผู้เชื่อถือในทฤษฎีนี้อยู่บ้างแต่จากการที่นักวิทยาศาสตร์รู้ดีถึงอันตรายในการเดินทางในอวกาศ เช่น อันตรายจากรังสีที่สามารถทำให้สิ่งมีชีวิตตายได้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ไม่ยอมรับทฤษฎีของอาร์รีเนียส นอกจากนี้การที่มีสิ่งมีชีวิตอยู่ได้ทุกหนทุกแห่งในเอกภพตามทฤษฎีนี้ก็ไม่สอดคล้องกับปัจจุบันที่เชื่อว่าดวงดาวและกาแล็กซี่อุบัติขึ้นในรูปของเมฆไฮโดรเจนและฮีเลียมที่หนาทึบ เพราะเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าสิ่งมีชีวิตต้องถือกำเนิดขึ้นบนดวงดาวที่มีอายุมากกว่าและมีมวลสารหนักกว่านั้น นักวิทยาศาสตร์จึงไม่เชื่อในทฤษฎีนี้ แต่มักจะเชื่อกันว่าชีวิตสามารถอุบัติขึ้นได้ในส่วนใดส่วนหนึ่งของเอกภพที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมที่จะเอื้อให้เกิดขึ้นได้
ในปัจจุบันโลกเป็นที่เพียงแห่งเดียวเท่านั้นในเอกภพที่เรารู้แน่นอนว่ามีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามโอกาสที่จะมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นบนที่อื่น ๆ ในเอกภพหรือแม้แต่บนดาวเคราะห์ดวงอื่นที่อยู่ในระบบสุริยะเดียวกับโลกก็มีความเป็นไปได้เช่นเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ยังคงต้องเดินหน้าเพื่อหาคำตอบในเรื่องนี้

3.ทฤษฎีวิวัฒนาการทางเคมี
หากทฤษฎีที่กล่าวว่าชีวิตบนโลกอุบัติขึ้นมาจากชีวิตนอกโลกไม่น่าเชื่อถือ ก็จะเหลือเพียงทฤษฎีที่เชื่อว่าชีวิตบนโลกอุบัติขึ้นครั้งแรกบนโลกของเรานี่เองหลังจากเกิดวิวัฒนาการทางเคมี (Chemical evolution) เรียกว่า ทฤษฎีวิวัฒนาการทางเคมี (The chemical evolution theory) ในระยะแรกโลกยังไม่มีออกซิเจน สารอนินทรีย์ที่มีโมเลกุลไม่ซับซ้อนได้ทำปฏิกิริยากันเกิดเป็นสารอินทรีย์ เช่น กรดอะมิโนและน้ำตาล ต่อมาสารอินทรีย์ดังกล่าวเกิดการรวมตัวกันเป็นสารอินทรีย์ที่มีองค์ประกอบซับซ้อนกว่า ในที่สุดก็กลายเป็นสารอินทรีย์ที่มีโมเลกุบขนาดใหญ่ และ เกิดวิวัฒนาการให้สารอินทรีย์โมเลกุลขนาดใหญ่เหล่านั้นจำลองตัวเองเพิ่มจำนวนขึ้นได้ รวมกันเกิดเป็นเซลล์แรกและเป็นเซลล์ของสิ่งมีชีวิตในปัจจุบัน ถือได้ว่าเกิดชีวิตขึ้นเป็นครั้งแรกบนโลก
ทฤษฎีการเกิดสิ่งมีชีวิตจากกระบวนการวิวัฒนาการทางเคมีของสารอนินทรีย์จนได้ชีวิตแรกบนโลกนี้เป็นทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับและเชื่อถือมากที่สุดในขณะนี้ เนื่องจากมีผลการศึกษาหลายประการที่สนับสนุนว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้จริง

วันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

กำเนิดสิ่งมีชีวิต

ในตอนต้นคริศต์ศตวรรษที่ 19 ผู้คนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตสามารถเกิดขึ้นได้เองจากสิ่งที่ไม่มีชีวิตแต่ใน พ.ศ.2450 หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) นักเคมีที่ต้องทำงานเกี่ยวกับจุลชีพในการหมักไวน์สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าสิ่งมีชีวิตต้องเกิดจากสิ่งที่มีชีวิตอยู่แล้วเท่านั้น
แม้จะต้องประสบกับข้อสงสัยและอุปสรรคมากมายเป็นเวลานาน ในที่สุดปาสเตอร์ก็สามารถทำให้ผู้คนนับตั้งแต่ยุคนั้นเป็นต้นมาไม่เชื่อกันอีกต่อไปว่าสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นได้เอง
อย่างไรก็ตามการทดลองของปาสเตอร์เป็นเพียงการยืนยันว่าสิ่งมีชีวิตไม่สามาถเกิดขึ้นได้เองภายใต้สภาพแวดล้อมของโลกในปัจจุบันเท่านั้น สภาพแวดล้อมของโลกเมื่อหลายพันล้านปีมาแล้วแตกต่างไปจากยุคโบราณจากสารเคมีที่ไม่มีชีวิต อย่างไรก็ตามเป็นไปไม่ได้ที่จะย้อนกลับไปเฝ้าดูว่าสิ่งมีชีวิตแรกบนโลกเกิดขึ้นเช่นนั้นจริงหรือไม่ การเกิดของสิ่งมีชีวิตแรกที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันอยู่ทุกวันนี้เป็นเพียงสมมติฐานที่มีหลักฐานสนับสนุนที่น่าเชื่อถือที่สุดในปัจจุบันเท่านั้นเอง

สิ่งมีชีวิตคืออะไร
ลักษณะสำคัญที่ทำให้สิ่งมีชีวิตแตกต่างจากสิ่งไม่มีชีวิต ได้แก่ ความมีระเบียบแบบแผนการสืบพันธุ์ การเจริญเติบโต การใช้พลังงาน การตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม การรักษาสภาวะสมดุลภายในร่างกาย และการปรับตัวอันเนื่องมาจากวิวัฒนาการ
สิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้สามารถแบ่งออกได้เป็นสองพวกใหญ่ คือ สิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต แต่ถ้าถามว่าชีวิตคืออะไร จะเห็นว่าเป็นการยากที่จะให้คำจำกัดความหรือคำอธิบายสั้น ๆ สำหรับคำว่าชีวิต ทั้ง ๆ ที่ทุกคนก็คุ้นเคยกับชีวิตของตนเองและของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย หรือแม้แต่เด็กก็สามารถบอกได้ว่า แมว ต้นไม้ หรือผีเสื้อเป็นสิ่งมีชีวิต ในขณะที่ก้อนหินเป็นสิ่งไม่มีชีวิต โดยทั่วไปเรามักบอกได้ว่าสิ่งใดมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตโดยพิจารณาจากสิ่งที่สิ่งมีชีวิตสามารถทำได้

ลักษณะสมบัติและกระบวนการที่จัดว่าเป็นของสิ่งมีชีวิตนั้นมีอยู่หลายประการที่สำคัญ คือ

1)ความมีระเบียบแบบแผน ลักษณะสมบัติของสิ่งมีชีวิตนั้นเป็นผลมาจากการจัดระเบียบและร่วมกันทำงานอย่างซับซ้อนขององค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตนั้น มีการแบ่งหน้าที่กันทำงานเป็นกลุ่มอย่างมีระเบียบทำให้เกิดระบบอวัยวะต่าง ๆขึ้น ได้แก่ ระบบกล้ามเนื้อ ระบบประสาท เป็นต้น แต่ละระบบต่างก็ทำหน้าที่ของตนเองและความสัมพันธ์กันในระหว่างแต่ละระบบด้วย

2)การสืบพันธุ์ สิ่งมีชีวิตสามารถสืบพันธุ์หรือเพิ่มจำนวนได้ด้วยตัวเอง เป็นการผลิตลูกหลานเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ให้สืบเนื่องอยู่ต่อไป ในการสืบพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตนั้นจะมีการถ่ายทอดลักษณะต่าง ๆ จากพ่อแม่ไปยังลูกหลานที่เกิดขึ้นใหม่เสมอ แต่ในบางครั้งก็อาจเกิดการกลายพันธุ์ (Mutation) ทำให้ลักษณะของลูกหลานที่เกิดขึ้นผิดไปจากลักษณะดั้งเดิมด้วย

3)การเจริญเติบโต การเติบโตของสิ่งมีชีวิตเป็นการเติบโตที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย โดยการแบ่งและเพิ่มขนาดของเซลล์ ไม่ได้เกิดจากการพอกพูนภายนอกเหมือนการเติบโตของสิ่งไม่มีชีวิต เช่น หินงอก หรือไข่มุก สารพันธุกรรมที่อยู่ภายในเซลล์จะเป็นตัวกำหนดแบบแผนของการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด ทำให้สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดมีลักษณะเฉพาะเป็นของตนเอง

4)การใช้พลังงาน สิ่งมีชีวิตต้องได้รับพลังงานและสามารถนำพลังงานนั้นไปใช้ในการทำงานเพื่อการดำรงชีวิตและสืบพันธุ์ กระบวนการทางเคมีที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตซึ่งเกิดขึ้นภายในเซลล์หรือภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิตเรียกว่า "เมแทบอลิซึม (Metabolism) กระบวนการเมแทบอลิซึมมีทั้งกระบวนการสร้าง (Anabolism) เช่น การสังเคราะห์คาร์โบไฮเดรต การสังเคราะห์โปรตีน การสังเคราะห์กรดนิวคลีอิก และ การสังเคราะห์ไขมันที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ และกระบวนการสลาย (Catabolism) เช่น การสลายอาหารต่าง ๆ ภายในร่างกายเพื่อให้เกิดพลังงานในการทำงาน

5)การตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิตสามารถรับรู้และสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงความเข้มของแสงจะเป็นตัวกระตุ้นให้ดอกพุดตานเปลี่ยนจากสีขาวในตอนเช้าเป็นสีแดงในตอนเย็น หรือ ต้นก้ามปูหุบใบหมดทั้งต้นเมื่อไม่มีแสง โดยทั่วไปแล้วสัตว์ซึ่งมีระบบประสาทและระบบกล้ามเนื้อที่สลับซับซ้อนจะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้ดีกว่าพืช

6)การรักษาสภาวะสมดุลภายในของร่างกาย สิ่งมีชีวิตมีกลไกที่จะปรับสภาพภายในร่างกายให้คงอยุ่ในภาวะปกติเสมอแม้สภาพแวดล้อมภายนอกจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น สัตว์เลือดอุ่นที่สามารถรักษาระดับอุณหภูมิภายในร่างกายให้คงที่อยู่ได้ตลอดเวลา

7)การปรับตัวที่เกิดจากวิวัฒนาการ สิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นมาบนโลกเป็นผลมาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม ทำให้สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดต้องมีการปรับตัวเองให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ มิฉะนั้นอาจจะสูญพันธุ์ได้ การปรับตัวให้มีรูปร่างลักษณะ สรีรวิทยา รวมทั้งพฤติกรรมต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมนี้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เรียกได้ว่าเป็นวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตนั่นเอง

ในบรรดาลักษณะสมบัติต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตที่กล่าวมานี้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าลักษณะสมบัติที่สำคัญที่สุดที่ทำให้สิ่งมีชีวิตแตกต่างจากสิ่งไม่มีชีวิต และเป็นลักษณะสำคัญที่ใช้ในการกำหนดได้ว่าสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นบนพื้นโลกแล้วเป็นครั้งแรก คือ การสืบพันธุ์และการมีกระบวนการเมแทบอลิซึม

วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตและมนุษย์

กำเนิดสิ่งมีชีวิต
สิ่งมีชีวิตมีลักษณะสำคัญหลายประการที่ทำให้แตกต่างจากสิ่งไม่มีชีวิต ปัจจุบันเชื่อกันว่าชีวิตแรกเกิดขึ้นบนโลกหลังจากการเกิดวิวัฒนาการทางเคมี เมื่อประมาณ 4,000 ล้านปีมาแล้ว ภายใต้สภาพแวดล้อมของโลกที่แตกต่างไปจากปัจจุบัน

วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต
สิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีวิวัฒนาการจากการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ทำให้มีรูปร่างลักษณะตลอดจนพฤติกรรมเปลี่ยนไป เป็นสาเหตุให้เกิดสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ขึ้นได้ เนื่องจากสิ่งมีชีวิตถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกเป็นเวลานานมาแล้ว ปัจจุบันจึงมีสิ่งมีชีวิตมากมายหลายชนิด ทั้งพืชและสัตว์ที่พบได้ในปัจจุบันรวมทั้งมนุษย์ด้วยเป็นผลมาจากวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นหลายพันล้านปีมาแล้ว นักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องจำแนกสิ่งมีชีวิตออกเป็นหมวดหมู่ตามที่กำหนดเป็นสากลเพื่อให้เข้าใจได้ตรงกัน

วิวัฒนาการของมนุษย์
มนุษย์เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมพวก"ไพรเมต" ซึ่งจัดเป็นพวกเดียวกับพวกลิงและเอพ ลักษณะสำคัญที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากไพรเมตชนิดอื่น คือ มนุษย์สามารถเดินสองขาโดยลำตัวตั้งตรงได้ เชื่อกันว่ามนุษย์และชิมแพนซีเคยมีบรรพบุรุษร่วมกัน ต่อมาจึงมีวิวัฒนาการแยกออกจากกัน โดยมนุษย์ได้มีวิวัฒนาการแยกแขนงออกไปหลายชนิด และมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากพวกเอพมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ปัจจุบันเหลือมนุษย์เพียงชนิดเดียวเท่านั้น