ชีวิตคืออะไร..?

ชีวิตคืออะไร..?
การเกิดของสิ่งมีชีวิตแรกที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันอยู่ทุกวันนี้เป็นเพียงสมมติฐานที่มีหลักฐานสนับสนุนที่น่าเชื่อถือที่สุดในปัจจุบันเท่านั้น

วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ทฤษฎีเกี่ยวกับการกำเนิดของสิ่งมีชีวิต

ถึงแม้ว่าจะยังไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่นอนว่าชีวิตแรกเกิดขึ้นบนโลกได้อย่างไร และเหตุใดปัจจุบันจึงมีสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ เป็นจำนวนมากมาย แต่มีผู้ที่พยายามจะตอบคำถามเหล่านี้มาเป็นเวลานานแล้ว นักสอนศาสนา นักปราชญ์ และนักวิทยาศาสตร์ ต่างก็พยายามอธิบายกำเนิดของสิ่งมีชีวิตแตกต่างกันไปตามความคิดของแต่ละบุคคลและความเชื่อในแต่ละยุคสมัยและแต่ละวัฒนธรรม

1.ทฤษฎีการเกิดขึ้นได้เอง
นักปราชญ์ชาวกรีกหลายท่านเชื่อกันว่าสิ่งไม่มีชีวิตบางอย่างที่กำลังเน่าเปื่อยจะกลายเป็นสิ่งมีชีวิตได้โดยกระบวนการเกิดขึ้นได้เอง (Spontaneous evolution) เช่น กบเกิดจากน้ำค้างในเดือนพฤษภาคม นกและแมลงเกิดจากกิ่งไม้ หรือ หนอนเกิดจากเนื้อเน่า
อย่างไรก็ตามจากการสังเกตและการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ในอดีตที่ผ่านมา เช่น ฟรานเชสโค เรดี (Francesco Redi) และ หลุยส์ ปาสเตอร์ สามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าสิ่งมีชีวิตไม่สามารถเกิดจากสิ่งที่ไม่มีชีวิต สิ่งที่มีชีวิตต้องเกิดจากสิ่งที่มีชีวิตเท่านั้น ความเชื่อเกี่ยวกับกระบวนการเกิดขึ้นได้เองนี้จึงไม่เป็นที่ยอมรับกันอีกต่อไป
นอกจากนี้เกือบทุกศาสนามักจะมีความเชื่อเกี่ยวกับการกำเนิดของสิ่งมีชีวิตโดยมีผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สร้างขึ้นจากพลังอำนาจที่เหนือธรรมชาติ แต่เนื่องจากในทางวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าพลังอำนาจที่เหนือธรรมชาติมีอยู่จริง นักวิทยาศาสตร์จึงไม่ยอมรับแนวคิดเกี่ยวกับการกำเนิดชีวิตโดยวิธีดังกล่าวเช่นเดียวกัน และที่สำคัญก็คือแนวคิดเหล่านี้ไม่ได้พยายามตอบคำถามสำคัญที่เราต้องการรู้ นั่นก็คือชีวิตแรกเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

2.ทฤษฎีชีวิตจากนอกโลก
ตั้งแต่อดีตมาจนถึงประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 20 นักวิทยาศาสตร์ไม่มีความคิดที่น่าเชื่อถือได้เกี่ยวกับการกำเนิดของสิ่งมีชีวิตแรกบนพื้นโลก ความรู้ทางด้านธรณีวิทยาและดาราศาสตร์ทำให้รู้ว่าโลกในตอนที่อุบัติขึ้นใหม่ ๆ นั้นเป็นมวลสารที่มีลักษณะหลอมเหลวและร้อนมาก จึงเชื่อกันว่าไม่มีสิ่งมีชีวิตสามารถอุบัติขึ้นหรือมีชีวิตอยู่ได้ในขณะนั้น อย่างไรก็ตามใน พ.ศ.2450 อาร์รีเนียส (Arrhenius) นักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดนได้เสนอทฤษฎีซึ่งกล่าวว่าชีวิตบนโลกนั้นมาจารกชีวิตนอกโลก (Extraterrestial theory) โดยเกิดจากจุลินทรีย์เล็ก ๆ ที่ล่องลอยไปมาระหว่างดาวเคราะห์ด้วยพลังงานจากแสงของดวงดาว
แม้จะมีผู้เชื่อถือในทฤษฎีนี้อยู่บ้างแต่จากการที่นักวิทยาศาสตร์รู้ดีถึงอันตรายในการเดินทางในอวกาศ เช่น อันตรายจากรังสีที่สามารถทำให้สิ่งมีชีวิตตายได้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ไม่ยอมรับทฤษฎีของอาร์รีเนียส นอกจากนี้การที่มีสิ่งมีชีวิตอยู่ได้ทุกหนทุกแห่งในเอกภพตามทฤษฎีนี้ก็ไม่สอดคล้องกับปัจจุบันที่เชื่อว่าดวงดาวและกาแล็กซี่อุบัติขึ้นในรูปของเมฆไฮโดรเจนและฮีเลียมที่หนาทึบ เพราะเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าสิ่งมีชีวิตต้องถือกำเนิดขึ้นบนดวงดาวที่มีอายุมากกว่าและมีมวลสารหนักกว่านั้น นักวิทยาศาสตร์จึงไม่เชื่อในทฤษฎีนี้ แต่มักจะเชื่อกันว่าชีวิตสามารถอุบัติขึ้นได้ในส่วนใดส่วนหนึ่งของเอกภพที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมที่จะเอื้อให้เกิดขึ้นได้
ในปัจจุบันโลกเป็นที่เพียงแห่งเดียวเท่านั้นในเอกภพที่เรารู้แน่นอนว่ามีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามโอกาสที่จะมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นบนที่อื่น ๆ ในเอกภพหรือแม้แต่บนดาวเคราะห์ดวงอื่นที่อยู่ในระบบสุริยะเดียวกับโลกก็มีความเป็นไปได้เช่นเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ยังคงต้องเดินหน้าเพื่อหาคำตอบในเรื่องนี้

3.ทฤษฎีวิวัฒนาการทางเคมี
หากทฤษฎีที่กล่าวว่าชีวิตบนโลกอุบัติขึ้นมาจากชีวิตนอกโลกไม่น่าเชื่อถือ ก็จะเหลือเพียงทฤษฎีที่เชื่อว่าชีวิตบนโลกอุบัติขึ้นครั้งแรกบนโลกของเรานี่เองหลังจากเกิดวิวัฒนาการทางเคมี (Chemical evolution) เรียกว่า ทฤษฎีวิวัฒนาการทางเคมี (The chemical evolution theory) ในระยะแรกโลกยังไม่มีออกซิเจน สารอนินทรีย์ที่มีโมเลกุลไม่ซับซ้อนได้ทำปฏิกิริยากันเกิดเป็นสารอินทรีย์ เช่น กรดอะมิโนและน้ำตาล ต่อมาสารอินทรีย์ดังกล่าวเกิดการรวมตัวกันเป็นสารอินทรีย์ที่มีองค์ประกอบซับซ้อนกว่า ในที่สุดก็กลายเป็นสารอินทรีย์ที่มีโมเลกุบขนาดใหญ่ และ เกิดวิวัฒนาการให้สารอินทรีย์โมเลกุลขนาดใหญ่เหล่านั้นจำลองตัวเองเพิ่มจำนวนขึ้นได้ รวมกันเกิดเป็นเซลล์แรกและเป็นเซลล์ของสิ่งมีชีวิตในปัจจุบัน ถือได้ว่าเกิดชีวิตขึ้นเป็นครั้งแรกบนโลก
ทฤษฎีการเกิดสิ่งมีชีวิตจากกระบวนการวิวัฒนาการทางเคมีของสารอนินทรีย์จนได้ชีวิตแรกบนโลกนี้เป็นทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับและเชื่อถือมากที่สุดในขณะนี้ เนื่องจากมีผลการศึกษาหลายประการที่สนับสนุนว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น